ประกาศโรงเรียนเพชรพิทยาคม เรื่อง การปรับรูปแบบจัดการเรียนการสอน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
- 12 ก.ค. 2564 เวลา 16:33 น.
- 2,066
- Tweet
ประกาศโรงเรียนเพชรพิทยาคม
เรื่อง การปรับรูปแบบจัดการเรียนการสอน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ตามที่ โรงเรียนเพชรพิทยาคมได้ออกประกาศ เรื่อง การจัดการเรียนการสอน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่กำหนดให้มีการจัดการเรียนการสอน 3 รูปแบบ คือ On Line,On Demand,On Hand ไปจนกว่าจะมีคำสั่งจังหวัดเพชรบูรณ์ให้เปลี่ยนแปลงและอนุญาตให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On Site ได้โดยกำหนดให้ครูประจำวิชา ปรับการเรียนเปลี่ยนวิธีการสอนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ และอำนวยความสะดวกในการเรียน การสืบค้นข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับการเรียนของนักเรียน ใช้วิธีการวัดและประเมินผลด้วยวิธีการที่หลากหลาย มีความยืดหยุ่นและไม่เพิ่มภาระให้กับนักเรียนมากเกินควร ปรับรูปแบบการสอบกลางภาคเรียน โดยใช้วิธีการวัดและประเมินผลระหว่างเรียนมาใช้ตามความเหมาะสม สำหรับนักเรียนที่มีปัญหาในการเรียนออนไลน์ ให้ครูผู้สอน ครูที่ปรึกษา และกลุ่มบริหารวิชาการได้สำรวจและแก้ไขปัญหาของนักเรียนอย่างเร่งด่วน กรณี ปัญหาในการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีในการเรียนออนไลน์ของนักเรียน ให้ใช้รูปแบบ On Hand เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสเข้าถึงและไม่เสียโอกาสการเรียนรู้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นั้นเรื่อง การปรับรูปแบบจัดการเรียนการสอน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงมีความรุนแรง การจัดการเรียนการสอน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของโรงเรียนเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนได้มีโอกาสในการเรียนรู้อย่างทั่วถึง ไม่เสียโอกาสในการพัฒนาการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โรงเรียนเพชรพิทยาคมจึงออกประกาศแจ้งการปรับรูปแบบจัดการเรียนการสอน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ดังนี้
1. การจัดการเรียนการสอนรูปแบบ On Line, On Demand และ On Hand ให้ครูผู้สอนได้ปรับวิธีการสอนที่มีความยืดหยุ่น เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อนักเรียนได้มีการเข้าถึงการเรียนรู้อย่างเหมาะสม ครูและนักเรียนมีการทำกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกัน และให้นักเรียนได้มีช่วงเวลาพักในแต่ละคาบเรียน ซึ่งจะช่วยลดความเครียดจากการเรียน ลดการเกิดปัญหาด้านสายตา นักเรียนได้มีเวลาในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมถึงเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากการเช่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตของนักเรียนและผู้ปกครอง
2. การมอบหมายภาระงานในแต่ละรายวิชา ต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับนักเรียนมากจนเกินควรให้คำนึงถึงความเหมาะสมของชิ้นงาน และภาระงานของนักเรียนในรายวิชาอื่นๆ การวัดและประเมินผล ให้ใช้วิธีการวัดและประเมินที่มีความหลากหลาย มีความยืดหยุ่น ปรับวิธีการวัดและประเมินผลให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของนักเรียน มีการมอบหมายภาระงาน ชิ้นงาน การทดสอบย่อย อย่างเหมาะสม
3. การติดตามนักเรียนที่มีปัญหาในการเรียน ให้ครูผู้สอน ครูที่ปรึกษา กลุ่มบริหารวิชาการ และกลุ่มบริหารกิจการนักเรียน ได้ปฏิบัติงานร่วมกันในส่งต่อข้อมูลและการติดตามนักเรียนเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการเรียนรู้
ทั้งนี้ การดำเนินการตามข้อที่ 1 – 3 ให้อยู่ในดุลพินิจของครูผู้สอน ให้บูรณาการอย่างหลากหลายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนและไม่เพิ่มภาระทั้งครูผู้สอนและนักเรียนในการจัดการเรียนการสอน
ประกาศ ณ วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
(นายวิเศษ ปิ่นพิทักษ์)